เอเอฟพี/เอเจนซี/บีบีซีนิวส์ ? “ไอพีซีซี” เปิดรายงาน โลกร้อน ฉบับที่สองระบุปัญหาภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อผู้คนนับพันล้านในทุกทวีปอย่างหนีไม่พ้น โดยผู้ที่ต้องแบกรับภาระหนักที่สุดคือบรรดาประเทศยากจน อีกทั้งยังอาจทำให้สิ่งมีชีวิตเกือบ 1 ใน 3 เสี่ยงสูญพันธุ์ถาวร แนะยืดอายุพีธีสารเกียวโตเพื่อบรรเทาปัญหา พร้อมเผยรายงานฉบับต่อไปเดือนหน้าในกรุงเทพฯ
คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ “ไอพีซีซี” (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ที่ตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงเปิดเผยรายงานการคาดการณ์ฉบับสำคัญ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบแล้วจากสมาชิกกว่า 100 ประเทศ ในวันที่ 6 เม.ย. หลังจากที่ถกเถียงกันมาราธอนอย่างดุเดือดจากผู้ร่วมประชุมนาน 24 ชั่วโมงเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรายงานดังกล่าว ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม
ไอพีซีซีชี้ว่า ก๊าซเรือนกระจก จะส่งผลกระทบต่อระบบลมฟ้าอากาศของโลก ทำให้รูปแบบการเกิดฝนเปลี่ยนแปลง และยังทำให้พายุมีกำลังความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะจะเกิด ปัญหา ภัยแล้ง น้ำท่วม และแหล่งน้ำเหือดแห้ง
ภาพแผนที่โลก แสดงบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศยากจน (The New York Times)
ราเชนทรา ปาจาอุรี (Rajendra Pachauri) ประธานไอพีซีซีแถลงว่า กลุ่มคนยากจนจะเป็นผู้ที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงมากที่สุด และยังจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากผลกระทบของ ภาวะโลกร้อน ฉะนั้น ปัญหานี้จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระดับโลก
ผลกระทบสำคั้ญที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าวไอพีซีซี คาดการณ์ว่า สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์มากถึง 30% จะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ หากว่าอุณหภูมิทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 1.5-2.5 องศาเซลเซียส, ประชาชนในทวีปแอฟริการาว 75-250 ล้านคนจะต้องเผชิญกับการขาดน้ำภายในปี 2020 และไม่เกินปีเดียวกันนี้พื้นที่การเกษตรในแอฟริกาที่ต้องอาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูก ผลผลิตจะลดลงถึง 50%
ส่วนประเทศทางตอนเหนือก็จะไม่มีธารน้ำแข็งและหิมะปกคลุมอีกต่อไป ส่งผลให้หลายๆ ประเทศที่อาศัยแหล่งน้ำจากธารน้ำแข็งละลายมีปริมาณน้ำลดลง และจะไม่มีทวีปไหนสามารถรอดพ้นจากผลกระทบของ ภาวะโลกร้อน ที่อาจเกิดขึ้นได้ ถึงแม้ว่าอุณหภูมิในทวีปนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ตาม
?มีความเป็นไปได้เหลือเกินที่ทุกภูมิภาคจะต้องประสบกับปัญหาผลประโยชน์ต้องเสื่อมเสียลงไป หรือไม่ก็ต้นทุนต้องเพิ่มขึ้นมา จากการที่ระดับอุณหภูมิมีปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 2-3 องศาเมื่อเทียบกับในช่วงปี 1990? เป็นเนื้อหาตอนหนึ่งใน ?บทสรุปสำหรับผู้กำหนดนโยบาย? ในรายงานของไอพีซีซี คราวนี้
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การประชุมตลอดช่วงสัปดาห์นี้ สมาชิกของไอพีซีซีได้มีการถกเถียงกันอย่างหนักถึงเนื้อหาในร่างบทสรุปนี้เอง อีกทั้งกำหนดการเผยแพร่บทสรุปดังกล่าวยังถูกเลื่อนออกไป หลังจากที่สหรัฐฯ จีน และซาอุดีอาระเบียพากันคัดค้านการใช้ถ้อยคำ ?รุนแรง? ในบทสรุป จนถึงขั้นตัวแทนคนหนึ่งออกมากล่าวหาว่า การประชุมที่ควรเป็นการหารือของบรรดานักวิทยาศาสตร์คราวนี้ กำลังถูกการเมืองแทรกแซง
บทสรุปดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรายงานฉบับเต็มซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,400 หน้า ที่ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า ผู้คนเป็นจำนวนหลายพันล้านคนจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำ และคนอีกกว่าหลายร้อยล้านคนจะต้องประสบกับภาวะหิวโหย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคที่มีแต่ชาติยากจน ซึ่งมีส่วนน้อยที่สุดในการก่อมลพิษจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลอันเป็นสาเหตุให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น
ผู้แทนที่เข้าประชุมหลายคนเผยว่า ด้วยการยืนกรานของสหรัฐฯ ร่างบทสรุปฉบับนี้จึงถูกตัดทอนย่อหน้าที่ระบุว่า อเมริกาเหนือ ?ได้รับการคาดหมายว่าจะประสบความเสียหายอย่างสาหัส ในด้านเศรษฐกิจของท้องถิ่น ตลอดจนความแตกสลายแห่งระบบนิเวศอันพอเพียงในตนเอง และความแตกสลายทางสังคมและวัฒนธรรม? นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อีก จากการยืนกรานของซาอุดีอาระเบีย และจีน
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวซึ่งเห็นดีเห็นงามกับการตัดข้อความ ?รุนแรง? จากบทสรุป กล่าวแก้ต่างว่าถึงอย่างไรข้อมูลทั้งหมดก็ยังคงอยู่ในรายงานตัวหลัก และมันยังคงเป็นสารที่ทรงพลังเข้มแข็งมาก
ทว่ารายงานฉบับนี้จะช่วยชี้แนะทางด้านนโยบายแก่รัฐบาลต่างๆ ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการขยายเวลาของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ของยูเอ็นที่ตั้งขึ้นเพื่อลดปริมาณการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก สู่ชั้นบรรยากาศและกำลังจะหมดอายุลงในปี 2012
รายงานที่เผยแพร่ในคราวนี้ เป็นส่วนที่สองในการประเมินหลักฐานต่างๆ ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของไอพีซีซีในปีนี้ ซึ่งเป็นการประเมินครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา
ในส่วนแรกของรายงานซึ่งเผยแพร่ไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์นั้น ไอพีซีซีบอกว่า อุณหภูมิของโลกได้เพิ่มขึ้น 0.74 องศาเซลเซียสแล้ว ในรอบร้อยปีที่ผ่านมา และส่วนใหญ่เป็นฝีมือของมนุษย์ ส่วนรายงานฉบับที่สามที่มีเนื้อหาระบุถึงปริมาณ ก๊าซเรือนกระจก ที่เพิ่มขึ้น ความเข้มข้น และวิกฤติของอุณหภูมิ และตามด้วยรายงานฉบับสุดท้ายอันเป็นผลสรุปของการค้นพบและคาดการณ์ทุกอย่างจะเปิดเผยในเดือน พ.ย. เป็นการส่งท้ายปี
ทั้งนี้ คณะทำงานเพื่อพิจารณารายงานฉบับที่สามของไอพีซีซีนี้ มีกำหนดการประชุมระหว่างวันที่ 30 เม.ย. – 3 พ.ค. ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ และมีกำหนดจะเปิดเผยรายงานในวันที่ 4 พ.ค.ที่เดียวกัน
Credit : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000040515
หมายเหตุ รายงานฉบับนี้ เป็นฉบับเดียวกับใน http://www.whyworldhot.com/global-warming/un-report-on-global-warming/